อาการแพ้อาหาร อันตรายอย่าละเลย

image_pdfดาวน์โหลดไฟล์ PDF




อาการแพ้อาหาร อันตรายอย่าละเลย

อาการแพ้อาหาร อันตรายอย่าละเลย

อาการแพ้อาหาร หรือ Food allergy มีสาเหตุเกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน หลังจากที่เราได้ทานอาหารบางชนิดเข้าไป แล้วไปทำให้ร่างกายมีการกระตุ้น สร้าง IgE (Immunoglobulin E) ต่อต้านต่ออาหารชนิดนั้น โดย IgE จะส่งสัญญาณไปยังระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปล่อยสารฮีสตามีน ทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆเกิดขึ้น



อาการของคนแพ้อาหาร

สำหรับอาการของการแพ้อาหารที่พบบ่อยสุดคือ ผื่นลมพิษเฉียบพลัน ซึ่งจะมีผื่นเป็นผื่นแดง บวมนูน เป็นวง ตามลำตัว แขนขา มักเกิดขึ้นเร็วหลังจากที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไปเพียง 5-15 นาที ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชม. ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีตาบวมและหน้าบวมร่วมด้วย จนไปถึงแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภาวะที่เร่งด่วนต้องรีบพบแพทย์โดยทันที อาการอื่นๆที่พบได้คือ คันในปาก คันริมฝีปาก คันตา หลังจากที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไป อาการแสดงของร่างกายจะพบมากกว่า 1 ระบบขึ้นไป จาก 4 ระบบดังต่อไปนี้

  1. อาการทางผิวหนัง: ผื่นคัน ผื่นลมพิษหรือผิวแดงทั้งตัว ปากบวม ตาบวม หน้าบวม
  2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ: คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ ไอมาก แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี้ดหรือหายใจไม่ออก
  3. อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ: ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก ความดันโลหิตตก อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
  4. อาการทางระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว

ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมาต้องทำอย่างไร



ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมาต้องทำอย่างไร

  • ให้ตั้งสติ และรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือโทรเรียกรถพยาบาลทันที ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น
  • จัดท่าทางที่เหมาะสม ถ้าคุณหรือคนที่เกิดอาการรู้สึกเวียนศีรษะหน้ามืด ให้นั่งหรือนอนในท่าที่รู้สึกสบายและสามารถหายใจได้สะดวก
  • ทานยาแก้แพ้(ถ้ามี) ในกรณีฉุกเฉิน ถ้าบริเวณนั้นหรือมียาแก้แพ้พกติดตัวมา สามารถให้ทานก่อนได้ระหว่างที่รอรับความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้หมายความว่ายาแก้แพ้จะเป็นยาหลักในการรักษา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้เฉียบพลันคือ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งจะมีในสถานพยาบาล หรือในกรณีที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้อาหารและได้รับยานี้พกติดตัว ให้ใช้ยานี้ฉีดบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาก่อนที่จะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
  • ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยแพทย์อาจจะให้คุณ อยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 1 วัน



สิ่งที่เข้าใจผิดสำหรับผู้ที่แพ้อาหาร

  1. เคยทานแล้วแพ้ มีผื่นลมพิษขึ้นไม่มาก แสดงว่ายังพอทานได้อยู่ ซึ่งเป็นเข้าใจที่ผิด ความจริงคือ อาการแพ้ไม่รุนแรงในรอบก่อน ไม่ได้ยืนยันว่า อนาคตจะไม่รุนแรงเสมอไป ซึ่งอาจจะแพ้รุนแรงขึ้นมาวันไหนก็ได้ ขึ้นกับภูมิของเรา ณ วันนั้นๆด้วย
  2. กินยาแก้แพ้ ก่อนกินอาหารที่แพ้ ซึ่งไม่ควรทำ เนื่องจาก ยาแก้แพ้อาจช่วยบดบังผื่น ไม่ให้เกิดผื่นได้ แต่ไม่ช่วยกรณีที่มีหลอมลมตีบ ความดันต่ำจากการแพ้อาหาร ดังนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทันสังเกตอาการแพ้ แล้วเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
  3. เมื่อก่อนเคยกินกุ้งได้ตลอด ไม่เคยมีปัญหา ทำไมเพิ่งมาแพ้กุ้งตอนวัยผู้ใหญ่ เป็นไปได้หรือ? ซึ่งความจริงคือเป็นไปได้ เราเรียกภาวะนี้ว่า Adult-onset food allergy ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นจากโปรตีนในอาหารชนิดนั้นๆ สักช่วงหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัว แล้วร่างกายค่อยๆสร้าง IgE ต่ออาหารชนิดนั้นขึ้นมา เมื่อกลับมาทานอีก เลยเกิดอาการแพ้เฉียบพลัน ซึ่งอาจกลายเป็นแพ้รุนแรงขึ้นมาในอนาคตได้
  4. แพ้กุ้ง สามารถกินกั้ง ปู ได้? ความจริงคือ ผู้ป่วยที่แพ้สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ควรเลี่ยง กุ้ง กั้ง ปู ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม ด้วย เนื่องจากอาหารพวกนี้มักมีโปรตีนที่คล้ายกัน สามารถแพ้ข้ามกันไปมาได้สูงถึง 75%

อาการแพ้อาหาร Food allergies concept



อาหารชนิดไหนทำให้เกิดอาการแพ้อาหาร

อาการแพ้อาหาร อาหารชนิดไหนทำให้เกิดอาการแพ้อาหาร

1. นมวัว (cow’s milk) เป็นอาหารที่เด็กไทยแพ้มากที่สุด ในเด็กเล็กอาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด หายใจครืดคราด แหวะนมบ่อย ผื่นคันเรื้อรัง บางคนอาจมีอาการเฉียบพลัน เช่น ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ

2. ไข่ (egg) จะพบอาการแพ้ทางผิวหนังบ่อยกว่าอาการระบบอื่น ผื่นมีได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง มักแพ้ไข่ขาวมากกว่าไข่แดง บางคนแพ้เฉพาะไข่ดิบหรือไข่ที่ยังสุกไม่ดี เช่น น้ำสลัดครีม ไข่ลวก ไข่ในโจ๊ก

3. แป้งสาลี (wheat) อาจเริ่มแพ้ตั้งแต่ในวัยเด็กหรือเพิ่งมาแพ้ตอนโตในวัยผู้ใหญ่ก็ได้ค่ะ อาจเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง เรียกว่า อนาฟัยแลกซิส (anaphylaxis)

4. ถั่วเหลือง (soy) เป็นถั่วที่เด็กไทยแพ้มากที่สุด คนที่แพ้ถั่วเหลืองอาจทานถั่วชนิดอื่นๆได้ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง เพราะอยู่คนละกลุ่มกัน ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงถั่วทั้งหมด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน

5. อาหารทะเลมีเปลือกหุ้ม (shellfish) เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย มักพบอาการแพ้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ บางคนแพ้เฉพาะบางสายพันธุ์ บางสายพันธุ์กินได้ไม่แพ้ บางคนแพ้ทุกสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ผู้ที่แพ้มักจะแพ้ทั้งปรุงสุกและดิบเพราะโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ทนต่อความร้อน   ส่วนปลาทะเลจะไม่รวมอยู่ในกลุ่มนี้นะคะ  เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้แตกต่างกัน ถ้าแพ้อาหารทะเลมีเปลือกหุ้มไม่จำเป็นต้องงดปลาทะเล



การวินิจฉัยอาการแพ้อาหาร

อาการแพ้อาหาร ทดสอบการแพ้อาหาร

สำหรับการวินิจฉัยภาวะแพ้อาหารนั้น ต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย รวมไปถึงการตรวจทดสอบอื่นๆเพิ่มด้วย เช่น

  • การทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test) เป็นการใช้น้ำยาโปรตีนสกัด มาหยดบนท้องแขนแล้วใช้เข็มสะกิดที่ผิวหนังเพื่อทดสอบปฏิกิริยาภูมิแพ้
  • ทดสอบโดยการเจาะเลือดหา Specific IgE ของอาหารที่สงสัย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน



การรักษาและการปฏิบัติตัว

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ รวมไปถึงอาหารที่มีโอกาสแพ้ข้ามกันได้ กรณีที่มีผื่นอย่างเดียวโดยไม่มีอาการอื่นร่วมได้สามารถทานยาแก้แพ้หลังที่เกิดอาการได้ สำหรับรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ต้องพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และแนะนำให้พกยาสำหรับช่วยชีวิตฉุกเฉิน Epinephrine ติดตัวร่วมด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ch9airport.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: sukumvithospital

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: bch.in.th

image_pdfดาวน์โหลดไฟล์ PDF

About Admin

แอดริน ผู้มีใจรักสุขภาพ เข้านอนสามทุ่ม ตื่นตีห้ามาออกกำลังกาย ดื่มน้ำวันละแปดแก้ว เขียนคอนเท้นสุขภาพ เพื่อแชร์เรื่องราวสุขภาพดีๆ เพราะอยากเห็นคนไทยสุขภาพดี ห่างไกลโรคภัย

View all posts by Admin →

Leave a Reply