อาการแพ้อาหาร อันตรายอย่าละเลย
อาการแพ้อาหาร หรือ Food allergy มีสาเหตุเกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน หลังจากที่เราได้ทานอาหารบางชนิดเข้าไป แล้วไปทำให้ร่างกายมีการกระตุ้น สร้าง IgE (Immunoglobulin E) ต่อต้านต่ออาหารชนิดนั้น โดย IgE จะส่งสัญญาณไปยังระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปล่อยสารฮีสตามีน ทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆเกิดขึ้น
อาการของคนแพ้อาหาร
สำหรับอาการของการแพ้อาหารที่พบบ่อยสุดคือ ผื่นลมพิษเฉียบพลัน ซึ่งจะมีผื่นเป็นผื่นแดง บวมนูน เป็นวง ตามลำตัว แขนขา มักเกิดขึ้นเร็วหลังจากที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไปเพียง 5-15 นาที ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชม. ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีตาบวมและหน้าบวมร่วมด้วย จนไปถึงแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภาวะที่เร่งด่วนต้องรีบพบแพทย์โดยทันที อาการอื่นๆที่พบได้คือ คันในปาก คันริมฝีปาก คันตา หลังจากที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไป อาการแสดงของร่างกายจะพบมากกว่า 1 ระบบขึ้นไป จาก 4 ระบบดังต่อไปนี้
- อาการทางผิวหนัง: ผื่นคัน ผื่นลมพิษหรือผิวแดงทั้งตัว ปากบวม ตาบวม หน้าบวม
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ: คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ ไอมาก แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี้ดหรือหายใจไม่ออก
- อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ: ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก ความดันโลหิตตก อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว
ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมาต้องทำอย่างไร
- ให้ตั้งสติ และรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือโทรเรียกรถพยาบาลทันที ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น
- จัดท่าทางที่เหมาะสม ถ้าคุณหรือคนที่เกิดอาการรู้สึกเวียนศีรษะหน้ามืด ให้นั่งหรือนอนในท่าที่รู้สึกสบายและสามารถหายใจได้สะดวก
- ทานยาแก้แพ้(ถ้ามี) ในกรณีฉุกเฉิน ถ้าบริเวณนั้นหรือมียาแก้แพ้พกติดตัวมา สามารถให้ทานก่อนได้ระหว่างที่รอรับความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้หมายความว่ายาแก้แพ้จะเป็นยาหลักในการรักษา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้เฉียบพลันคือ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งจะมีในสถานพยาบาล หรือในกรณีที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้อาหารและได้รับยานี้พกติดตัว ให้ใช้ยานี้ฉีดบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาก่อนที่จะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
- ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยแพทย์อาจจะให้คุณ อยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 1 วัน
สิ่งที่เข้าใจผิดสำหรับผู้ที่แพ้อาหาร
- เคยทานแล้วแพ้ มีผื่นลมพิษขึ้นไม่มาก แสดงว่ายังพอทานได้อยู่ ซึ่งเป็นเข้าใจที่ผิด ความจริงคือ อาการแพ้ไม่รุนแรงในรอบก่อน ไม่ได้ยืนยันว่า อนาคตจะไม่รุนแรงเสมอไป ซึ่งอาจจะแพ้รุนแรงขึ้นมาวันไหนก็ได้ ขึ้นกับภูมิของเรา ณ วันนั้นๆด้วย
- กินยาแก้แพ้ ก่อนกินอาหารที่แพ้ ซึ่งไม่ควรทำ เนื่องจาก ยาแก้แพ้อาจช่วยบดบังผื่น ไม่ให้เกิดผื่นได้ แต่ไม่ช่วยกรณีที่มีหลอมลมตีบ ความดันต่ำจากการแพ้อาหาร ดังนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทันสังเกตอาการแพ้ แล้วเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
- เมื่อก่อนเคยกินกุ้งได้ตลอด ไม่เคยมีปัญหา ทำไมเพิ่งมาแพ้กุ้งตอนวัยผู้ใหญ่ เป็นไปได้หรือ? ซึ่งความจริงคือเป็นไปได้ เราเรียกภาวะนี้ว่า Adult-onset food allergy ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นจากโปรตีนในอาหารชนิดนั้นๆ สักช่วงหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัว แล้วร่างกายค่อยๆสร้าง IgE ต่ออาหารชนิดนั้นขึ้นมา เมื่อกลับมาทานอีก เลยเกิดอาการแพ้เฉียบพลัน ซึ่งอาจกลายเป็นแพ้รุนแรงขึ้นมาในอนาคตได้
- แพ้กุ้ง สามารถกินกั้ง ปู ได้? ความจริงคือ ผู้ป่วยที่แพ้สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ควรเลี่ยง กุ้ง กั้ง ปู ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม ด้วย เนื่องจากอาหารพวกนี้มักมีโปรตีนที่คล้ายกัน สามารถแพ้ข้ามกันไปมาได้สูงถึง 75%
อาหารชนิดไหนทำให้เกิดอาการแพ้อาหาร
1. นมวัว (cow’s milk) เป็นอาหารที่เด็กไทยแพ้มากที่สุด ในเด็กเล็กอาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด หายใจครืดคราด แหวะนมบ่อย ผื่นคันเรื้อรัง บางคนอาจมีอาการเฉียบพลัน เช่น ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ
2. ไข่ (egg) จะพบอาการแพ้ทางผิวหนังบ่อยกว่าอาการระบบอื่น ผื่นมีได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง มักแพ้ไข่ขาวมากกว่าไข่แดง บางคนแพ้เฉพาะไข่ดิบหรือไข่ที่ยังสุกไม่ดี เช่น น้ำสลัดครีม ไข่ลวก ไข่ในโจ๊ก
3. แป้งสาลี (wheat) อาจเริ่มแพ้ตั้งแต่ในวัยเด็กหรือเพิ่งมาแพ้ตอนโตในวัยผู้ใหญ่ก็ได้ค่ะ อาจเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง เรียกว่า อนาฟัยแลกซิส (anaphylaxis)
4. ถั่วเหลือง (soy) เป็นถั่วที่เด็กไทยแพ้มากที่สุด คนที่แพ้ถั่วเหลืองอาจทานถั่วชนิดอื่นๆได้ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง เพราะอยู่คนละกลุ่มกัน ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงถั่วทั้งหมด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน
5. อาหารทะเลมีเปลือกหุ้ม (shellfish) เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย มักพบอาการแพ้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ บางคนแพ้เฉพาะบางสายพันธุ์ บางสายพันธุ์กินได้ไม่แพ้ บางคนแพ้ทุกสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ผู้ที่แพ้มักจะแพ้ทั้งปรุงสุกและดิบเพราะโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ทนต่อความร้อน ส่วนปลาทะเลจะไม่รวมอยู่ในกลุ่มนี้นะคะ เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้แตกต่างกัน ถ้าแพ้อาหารทะเลมีเปลือกหุ้มไม่จำเป็นต้องงดปลาทะเล
การวินิจฉัยอาการแพ้อาหาร
สำหรับการวินิจฉัยภาวะแพ้อาหารนั้น ต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย รวมไปถึงการตรวจทดสอบอื่นๆเพิ่มด้วย เช่น
- การทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test) เป็นการใช้น้ำยาโปรตีนสกัด มาหยดบนท้องแขนแล้วใช้เข็มสะกิดที่ผิวหนังเพื่อทดสอบปฏิกิริยาภูมิแพ้
- ทดสอบโดยการเจาะเลือดหา Specific IgE ของอาหารที่สงสัย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
การรักษาและการปฏิบัติตัว
ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ รวมไปถึงอาหารที่มีโอกาสแพ้ข้ามกันได้ กรณีที่มีผื่นอย่างเดียวโดยไม่มีอาการอื่นร่วมได้สามารถทานยาแก้แพ้หลังที่เกิดอาการได้ สำหรับรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ต้องพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และแนะนำให้พกยาสำหรับช่วยชีวิตฉุกเฉิน Epinephrine ติดตัวร่วมด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ch9airport.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: sukumvithospital
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: bch.in.th